วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เมื่อโรคน้ำกัดเท้าถามหา สมุนไพรรสฝาดคือตัวช่วย

ในภาวะที่หลายจังหวัดในประเทศไทยจมอยู่ใต้บาดาลมานานหลายเดือน แน่นอนว่าโรคน้ำกัดเท้าหรือฮ่องกงฟุต ย่อมเกิดขึ้นกับผู้ประสบภัยไม่มากก็น้อย ลองสังเกตว่าหากมีอาการคันตามซอกนิ้วเท้า ผิวหนังลอกเป็นขุย เกิดผื่นที่เท้า ผิวหนังพุพอง เท้าเปื่อย เป็นหนอง มีอาการนิ้วเท้าหนาและแตกร่วมด้วย นั่นหมายถึงโรคน้ำกัดเท้าได้มาเยือนคุณแล้ว แต่จะให้เดินทางไปสถานีอนามัยหรือพบแพทย์เพื่อรักษาก็ไม่สะดวก
ดังนั้น มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร นำโดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร มีคำแนะนำมาเสนอ ด้วยการหยิบใช้ "สมุนไพรใกล้ตัว" ที่จะกลายเป็นยาวิเศษช่วยเหลือชาวบ้านได้ โดยใครที่เริ่มมีอาการเป็นโรคน้ำกัดเท้า ให้นำสมุนไพรที่มีรสฝาด เช่น เปลือกมังคุด เปลือกมะขามป้อม ใบฝรั่ง หมาก สีเสียด นำมาต้มเคี่ยวให้ได้น้ำรสฝาด จากนั้นรอให้อุ่นแล้วค่อยแช่ขาและเท้าลงไปประมาณ 5-10 นาที แล้วเช็ดให้แห้งโดยไม่ต้องล้างออก ซึ่งน้ำที่มีรสฝาดนี้จะช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย มีฤทธิ์ฝาดสมานตกตะกอนโปรตีน ทำให้ผิวหนังกระชับ ส่งผลให้เชื้อโรคเข้าสู่ผิวหนังได้ยากขึ้น
"การนำสมุนไพรใกล้ตัวมาใช้นี้ มาจากเคล็ดของคนโบราณ ซึ่งเมื่อก่อนชาวนาที่ต้องแช่เท้าดำนาอยู่ทั้งวัน ก่อนขึ้นเรือนหลังจากล้างเท้าให้สะอาดแล้ว เขาจะจุ่มเท้าลงในน้ำที่แช่เปลือกมะขามป้อมหรือเปลือกกระโดนแล้วค่อยขึ้น เรือน เท้าจึงปลอดภัยจากโรคภัย"
ภญ.ดร.สุภาภรณ์กล่าวต่อว่า แต่ขาและเท้าเริ่มเป็นโรคแล้ว ให้ใช้ใบพลู สมุนไพรอีกชนิดที่มีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเลือกใช้ใบพลูแก่นำมาตำให้ละเอียด ใส่เกลือเล็กน้อยและน้ำหรือเหล้าพอชุ่ม นำมาทาบริเวณที่เป็นโรค เช้า-เย็นต่อเนื่องจนกว่าโรคจะหาย ซึ่งพลูมีสรรพคุณฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และลดการอักเสบ อย่างไรก็ตามการใช้ใบพลูมีข้อเสียบางประการคือ ผิวหนังบริเวณที่ถูกทาจะมีสีคล้ำขึ้นแต่จะจางหายไปเมื่อเลิกใช้ นอกจากนี้ยังมีชุมเห็ดเทศหรือหัวข่าที่มีสรรพคุณฆ่าเชื้อรา กลากเกลื้อน รักษาโรคน้ำกัดเท้าได้เช่นกัน วิธีการใช้ให้เลือกใบชุมเห็ดเทศแก่หรือหัวข่าแก่ นำมาโขลกให้ละเอียด แช่เหล้าพอท่วมไว้ประมาณ 7 วัน แล้วนำมาทาบริเวณที่เป็นโรค เท่านี้ก็สามารถบรรเทาอาการคันและรักษาโรคน้ำกัดเท้าได้
"แต่ถ้าเราหมั่นล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่ทุกครั้งหลังจากเดินไปสัมผัสน้ำ ท่วมขัง และเช็ดให้แห้ง ใส่ถุงเท้าหรือรองเท้าที่สะอาดแห้งไม่เปียกชื้น ไม่ใส่ถุงเท้ารองเท้าคู่เดิมทุกวัน ก็จะสามารถป้องกันโรคน้ำกัดเท้าได้อีกวิธีหนึ่ง" ภญ.ดร.สุภาภรณ์ระบุ




ที่มา: ไทยโพสต์  3 พฤศจิกายน 2554
พืชผักสวนครัว

พืชผักสวนครัว

การปลูกพืชผักสวนครัว มีความสำคัญเป็นอันดับแรกของชีวิตประจำวัน เพราะใช้เป็นอาหารในครัวเรือนได้ดี ถ้าปลูกมากมีเหลือก็จำหน่ายได้ และสามารถยึดเป็นอาชีพได้ ขอให้มีความยึดมั่นในธรรมชาติ มีความขยัน และอดทน การปลูกพืชผักสวนครัวมีหลักปฏิบัติ 5 ประการ

การเลือกเมล็ดพันธุ์
เมล็ดพันธุ์มีความจำเป็นในการเริ่มต้นในการเพาะปลูก จึงควรศึกษาเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ดี แข็งแรง ไม่เป็นโรคง่าย คัดสรรแล้วเก็บรักษาไว้อย่างดีก่อนปลูก


การเตรียมดิน
คุณภาพของดิน จะเป็นตัวกำหนดการเจริญเติบโตของพืช การให้อาหารแก่ดินด้วยปุ๋ยชีวภาพจะทำให้ดินมีชีวิตและช่วยย่อยอินทรีย์วัตถุในดิน ให้ดินอุดมพร้อมแก่การเพาะปลูก
2.1 แปลงใหม่ (ดินไม่สมบูรณ์)
- ถ้าดินแข็งมาก อาจใช้เครื่องจักรช่วยในการไถก่อน ยกแปลง
- ดินขาดอินทรีย์วัตถุ ควรแหวะท้องหมู ใส่ปุ๋ยแห้ง และรดด้วยปุ๋ยน้ำ
- ยกร่องให้สวยงาม โรยปุ๋ยแห้ง ตร.ม. ละ 1 กำมือ รดด้วยปุ๋ยน้ำ คลุมด้วยฟางไว้ 5-7 วัน ปลูกพืชด้วยเมล็ดหรือกล้า

2.2 แปลงเก่า (ดินสมบูรณ์)
หลังจากตัดผักหรือถอนผักออกแล้ว ถอนหญ้า ปรับปรุงแปลง (ไม่ต้องขุด) แล้วเริ่มต้นดังน
- ใส่ปุ๋ยแห้ง ตร.ม.ละ 1-2 กำมือ ใช้จอบสับเบาๆ ให้คลุกกับดิน
- คลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้ง
- รดด้วยปุ๋ยน้ำ 1-2 วัน
- หมักไว้ 7 วัน ปลูกด้วยเมล็ดหรือกล้า


การปลูก
3.1 การปลูกด้วยเมล็ด
- นำเมล็ดไปแช่ในน้ำจุลินทรีย์ ประมาณ 30 นาที หากผิวเมล็ดแข็งให้แช่นานหน่อย
- แหวกหญ้าหรือฟางที่คลุมออก
- ใช้ไม้กระดานหน้า 1/2 x 2 นิ้ว กดเป็นรอยลึก 1-2 เซนติเมตร
- หยอดเมล็ดตามรอยที่กดไว้
- คลุมฟางเหมือนเดิม
- รดน้ำเช้าเย็น
- 2 วันแรกให้รดด้วยปุ๋ยน้ำช่วงเย็นวันละ 1 ครั้ง หลัง จากนั้น ให้รดปุ๋ยน้ำ 3 วัน / ครั้ง นอกนั้นรดน้ำปกติ

3.2 ปลูกด้วยกล้า
การเพาะกล้ามี 2 ชนิด คือ
เพาะด้วยกะบะ
- อาจเป็นภาชนะสำเร็จรูป หรือใช้ไม้ 1/2 x 2 นิ้ว หรือวัสดุอื่น ทำเป็นกระบะขนาด 50 x 50 หรือ 50 x 70 หรือ 50 x 100 เซนติเมตร ให้สามารถยกย้ายและวางบนพื้นได้สะดวก
- ผสมปุ๋ยแห้งกับดินร่วน แกลบเผา อัตราส่วน 1 : 5 : 3 ลงในกระบะ
- หยอดเมล็ดหรือหว่านเมล็ดให้ทั่วอย่าให้แน่นเกินไป
- คลุมด้วยหญ้าแห้งหรือฟางบางๆ
- รดด้วยปุ๋ยน้ำให้ชุ่ม
- จากนั้นรดน้ำ เช้า-เย็น
- รดปุ๋ยน้ำช่วงเย็นติดต่อกัน 3 วัน หลังจากนั้นรดปุ๋ยน้ำ 3 วัน/ครั้ง

การเพาะในแปลง
- นำปุ๋ยแห้งและแกลบเผาผสมในดิน ในแปลง คลุกให้ทั่ว ทำหน้าดินให้ละเอียด
- หยอดเมล็ด หรือ โรยเมล็ด
- คลุมด้วยหญ้าแห้งหรือฟางแห้งบางๆ
- รดปุ๋ยน้ำให้ชุ่มทั่วแปลง
- รดน้ำ เช้า - เย็น
- 3 วันแรกรดปุ๋ยน้ำช่วงเย็นทุกวัน หลังจากนั้นรด 3 วัน/ครั้ง วันปกติรดน้ำธรรมดา


การดูแลรักษา
- ผักเกือบทุกชนิดเพาะกล้าก่อนปลูกจะดี เพราะถ้าให้ร่นระยะเวลาในการลงปลูก สามารถปลูกได้หลายรุ่น และดูแลรักษาง่ายยกเว้นพืชผักที่ย้ายกล้าไม่ได้ เช่น แครอท หัวผักกาด การปลูกด้วยกล้า ทำให้ประหยัดเมล็ดพันธุ์ได้ด้วย ดีกว่าปลูกด้วยเมล็ดแล้วต้องถอนทิ้งเมื่อผักแน่นเกินไป
- ปกติจะใส่ปุ๋ยแห้งครั้งเดียว แต่ถ้าผักมีอายุยาวเกิน 50 วัน ให้สังเกตว่าผักไม่สวย ไม่สมบูรณ์ ก็ใส่ปุ๋ยแห้งได้ระหว่างแถว ไม่ให้ถูกต้นพืชผัก
- การเตรียมแปลงดี ผักจะเจริญเติบโตเสมอกันทั้งแปลงผักต้นใดมีโรคให้งดน้ำ และรดด้วย EM สด ขยาย ผสมน้ำ 50 เท่า ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง จึงให้น้ำต่อ
- ผักมีหัวให้ขุดแปลงลึกๆ แหวะท้องหมูบ่อยๆ และใส่ปุ๋ยแห้งผสมให้ดี
- การรดน้ำ ควรใช้บัวรดน้ำรูเล็กๆ ให้เป็นฝอยได้มากเท่าไรยิ่งดี
- ไม่ควรรดน้ำด้วยสายยางที่น้ำพุ่งแรงๆ จะทำให้ผักนอนราบ โดยเฉพาะผักกาดขาวจะห่อใบยาวขึ้นหากถูกน้ำซัดแรงๆ ทุกวัน
- พ่นด้วยสารไล่ศัตรูพืช หรือ สารป้องกันเชื้อรา ทุกๆ 3 วัน
เพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืชโดยธรรมชาติ ควรปลูกผักกาดหอม ผักชีใบแหลม ปนกับผักอื่นๆ ปลูกต้นดาวเรือง ตะไคร้หอม ผกากรองไว้เป็นรั้ว และใช้ใบตะไคร้หอมมาคลุมแปลงผักจะป้องกันแมลงรบกวนได้ด้วย